พระประวัติ

          สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ประสูติเมื่อวัน อาทิตย์ที่ 6 พฤษภาคม ค.ศ. 1923 ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร สิ้นพระชนม์เมื่อวันพุธที่ 2 มกราคม ค.ศ. 2008 ณ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย พระชันษา 84 ปี 7 เดือน 29 วัน
          ทรงเป็นพระธิดาพระองค์แรกแห่ง ราชสกุลมหิดล ในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก กับสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี เป็นพระเชษฐภคินีในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และเป็นพระปิตุจฉา ในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

          การศึกษา  ชั้นอนุบาลที่สหรัฐอเมริกา จากนั้นทรงศึกษาในประเทศไทยถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 แล้วทรงศึกษาต่อชั้นประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษาที่สวิตเซอร์แลนด์จนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาเคมี จากมหาวิทยาลัยโลซานน์ และทรงศึกษาเพิ่มเติมในสาขาวิชา การศึกษา วรรณคดี ปรัชญา และจิตวิทยา

          ทรงเป็นอาจารย์สอนภาษาฝรั่งเศสในมหาวิทยาลัยของรัฐ ทรงเป็นนักเขียนและบรรณาธิการ เป็นนักวิชาการและนักเดินทางแนววัฒนธรรมศึกษา ทรงตั้งกองทุนจากทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อสนับสนุนผู้คน ทุกกลุ่ม ทั้งในเมืองหลวง ในชนบท และถิ่นทุรกันดาร ได้มีการศึกษาตลอดชีวิตและมีสุขภาวะที่ดี ตลอดจนทรง สนับสนุนและรับอุปถัมภ์สมาคม มูลนิธิต่างๆ รวมทั้งสิ้น 70 แห่ง

พระกรณียกิจ : 
1. ด้านการศึกษา
         1.1. ทรงสนับสนุนการศึกษาแบบเรียนรวมแก่เด็กยากไร้ เด็กด้อยโอกาส เด็กชายขอบ ในถิ่นทุรกันดาร และในชุมชนแออัด รวมทั้งทรงสนับสนุนการศึกษาตลอดชีวิตและการพัฒนาสุขภาวะแก่เด็ก สตรี และผู้สูงวัย
         1.2. ทรงมุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนและพัฒนาครูทางด้านภาษาต่างประเทศ
2. ด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์  ทรงสนับสนุนการพัฒนาเยาวชนอัจฉริยะด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ในเวทีการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระหว่างประเทศจนสัมฤทธิผล ตลอดจนพัฒนามาตรฐานการเรียนการสอนด้านนี้ในโรงเรียนที่มีความพร้อม รวมทั้งทรงสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการแข่งกันโอลิมปิกวิชาการระหว่างประเทศ
3. ด้านวัฒนธรรม  ทรงสนับสนุนให้เกิดการศึกษาเรียนรู้ถึงความหลากหลายและการปฏิสัมพันธ์ข้ามวัฒนธรรมกับผู้คนในชาติอื่น ๆ เพื่อความเข้าใจซึ่งกันและกัน อันนำไปสู่การอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสันติสุข

 ความสำคัญ พระกรณียกิจดังกล่าวเป็นการสร้างและพัฒนาคน อันเป็น “ทุนมนุษย์” ของประเทศตามเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals: MDGs ค.ศ. 2000-2015) ซึ่งเป็นต้นทุนของประเทศไทยในการเปลี่ยนผ่านไปสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของตามแนวทางขององค์การสหประชาชาติ(Sustainable Development Goals: SDGs ค.ศ. 2016-2030) 

" UNESCO จึงมีมติรับรอง ในการประชุมสมัยสามัญครั้งที่ 41 ณ สำนักงานใหญ่องค์การยูเนสโก กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 9 - 24 พฤศจิกายน 2564  
ยกย่องพระเกียรติคุณ ในฐานะบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์ของโลกในปี 2565 – 2566 ด้านการศึกษา ด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐานและคณิตศาสตร์ และด้านวัฒนธรรม "

โดยได้รับการสนับสนุนจากประเทศสมาชิกองค์การยูเนสโก 6 ประเทศ ได้แก่ 
ราชอาณาจักรโมร็อกโก สมาพันธรัฐสวิส สหพันธรัฐรัสเซีย สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐฝรั่งเศส และสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์

 


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar