ในหลวง-พระราชินี ทอดพระเนตรการแสดงดนตรีคลาสสิก วาระครบ 100 ปี วันประสูติ “สมเด็จพระพี่นาง”

   

           19 มิ.ย. 66 เวลา 20.03 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง จากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปทอดพระเนตรการแสดงดนตรีคลาสสิกน้อมรำลึกในพระกรุณาคุณ วาระครบ 100 ปี วันประสูติ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร
  
            การนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทอดพระเนตรนิทรรศการน้อมรำลึกในพระกรุณาคุณสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ที่ทรงเป็นนักปราชญ์ผู้รอบรู้ประวัติศาสตร์ศิลปวัฒนธรรมและโบราณคดี ทรงให้ความสำคัญของศิลปวัฒนธรรม โบราณคดี ประวัติศาสตร์ และมรดกโลก อันก่อให้เกิดความรักความหวงแหนและความตระหนักในความเป็นเจ้าของร่วมกัน ทรงส่งเสริมงานแสดงต่าง ๆ เช่นดนตรีคลาสสิค ละครอุปรากร ทั้งยังทรงเป็นองค์อุปถัมภ์งานแสดงและวงดนตรีต่าง ๆ เช่นวงดุริยางค์เยาวชนไทย วงซิมโฟนี่ออเครสต้าแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธินาฏยะศาลาหุ่นละครเล็ก เป็นต้น อีกทั้งยังได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการแสดงให้การสนับสนุนช่วยเหลือและส่งเสริมนักดนตรีคลาสสิคมาโดยตลอด  ดังนั้นองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ประกาศถวายพระเกียรติยกย่องให้สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านการศึกษาเพื่อปวงชน (Education for All) จากพระกรณียกิจนานัปการที่ทรงปฏิบัติ ด้วยพระปณิธานแนวแน่ที่จะสร้างประโยชน์เพื่อประชาชนชาวไทยและสังคมโลก 

          จากนั้นทอดพระเนตรวีดิทัศน์ความเป็นมาของทุนส่งเสริมดนตรีคลาสสิก ในพระอุปถัมภ์ ที่มีวัตถุประสงค์ที่จะส่งเสริมกิจกรรมดนตรีคลาสสิคให้แพร่หลายในประเทศไทยและส่งเสริมศิลปินที่มีความสามารถให้ได้รับโอกาสในการพัฒนาด้วยการเข้าร่วมกิจกรรมการแสดงดนตรีระดับนานาชาติตลอดจนการไปศึกษาต่อต่างประเทศ ด้วยพระปณิธานของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ที่จะพัฒนาให้วงการดนตรีคลาสสิกในประเทศไทยทัดเทียมกับประเทศอื่นๆ ได้นำไปสู่การก่อตั้งสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนาในเวลาต่อมา เป็นก้าวกระโดดที่สำคัญของการยกระดับการศึกษาด้านดนตรีสากลในประเทศไทยตั้งแต่เริ่มก่อตั้งทุนจนถึงปัจจุบัน รวมมีนักดนตรี นักร้อง และนักประพันธ์เพลงที่ได้รับทุนรวมมากกว่า 100 คน นับเป็นการพัฒนาวงการดนตรีคลาสสิคที่ปรากฏผลลัพธ์อย่างน่ายินดี

          จากนั้นเสด็จเข้าหอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ทอดพระเนตรการแสดงดนตรีคลาสสิกน้อมรำลึกพระกรุณาคุณ วาระครบ 100 ปี วันประสูติ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งเป็นการแสดงเปียโนของเซอร์สตีเวน  ฮัฟ (Sir Stephen  Hough) นักเปียโนระดับโลกชาวอังกฤษ แสดงร่วมกับวงรอยัลบางกอกซิมโฟนีออร์เคสตรา โดยมีนายแซนเดอร์  เตเปน (Mr. Sander  Teepen) เป็นวาทยกร การแสดงประกอบด้วย 4 บทเพลง ได้แก่ โอเวอร์เจอร์ - รัสแลน แอนด์ ลุดมิลลา (Overture - Russlan and Ludmilla) ของมิคาอิล กลิงกา (Mikhail Glinka) บทเพลงเปียโน คอนแชร์โต หมายเลข 5 (Piano Concerto No 2 in C minor, Op.18) ของเซียร์เกย์ รัคมานีนอฟ (Sergei Rachmaninof) บทเพลงเปเลอาส เอ เมลิซองเด (Pelléas et Mélisande, Op. 80) ของกาเบรียล โฟเร (Gabriel Fauré) และบทเพลง ๑๘๑๒ โอเวอร์เจอร์ (1812 Overture, Op. 49) ของปิออตร์ อิลิช ไชคอฟสกี (Piotr Ilyich Tchaikovsky) ในโอกาสนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เชิญช่อดอกไม้พระราชทานแก่ผู้แทนนักแสดงด้วย


  
          สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจหลากหลายแขนง ทรงรับโครงการในพระอุปถัมภ์มากกว่า 70 โครงการ ทั้งด้านการศึกษา การสังคมสงเคราะห์ การแพทย์และการสาธารณสุข การต่างประเทศ การศาสนา ศิลปวัฒนธรรม ฯลฯ กับทั้งยังมีพระปรีชาสามารถด้านการเขียน การกีฬา และการถ่ายภาพ รวมทั้งยังทรงสนพระทัยติดตามข่าวคราวเกี่ยวกับดนตรีคลาสสิก และเสด็จไปทอดพระเนตรการแสดงของนักดนตรีคลาสสิกที่มีชื่อเสียงอย่างสม่ำเสมอ พร้อมทั้งทรงพระดำริที่จะพัฒนาวงการดนตรีคลาสสิกของไทยให้ก้าวหน้าขึ้น เมื่อพุทธศักราช 2543ทรงพระเมตตาพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์จัดตั้งกองทุนสำหรับนักดนตรีคลาสสิก ชื่อ “กองทุนเพื่อส่งเสริมการศึกษาดนตรีของเยาวชน” ต่อมาในพุทธศักราช 2547 จึงเปลี่ยนเป็น “ทุนส่งเสริมดนตรีคลาสสิก ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์” เพื่อให้ขอบเขตของการสนับสนุนกว้างขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมกิจกรรมดนตรีคลาสสิกให้แพร่หลายในประเทศไทย และส่งเสริมศิลปินที่มีความสามารถให้ได้รับโอกาสในการพัฒนา ด้วยการเข้าร่วมกิจกรรมการแสดงดนตรีระดับนานาชาติ ตลอดจนการไปศึกษาต่อต่างประเทศ 

          พระปณิธานที่จะพัฒนาให้วงการดนตรีคลาสสิกในประเทศไทยทัดเทียมกับนานาประเทศ ได้นำไปสู่การก่อตั้ง “สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา” ในเวลาต่อมา ซึ่งนับเป็นก้าวกระโดดที่สำคัญของการยกระดับการศึกษาด้านดนตรีสากลในประเทศไทย ในวาระครบ ๑๐๐ ปี วันประสูติ องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ประกาศถวายพระเกียรติยกย่องให้สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านการศึกษาเพื่อปวงชน (Education for All) จากพระกรณียกิจนานัปการที่ทรงปฏิบัติ ด้วยพระปณิธานแนวแน่ที่จะสร้างประโยชน์เพื่อประชาชนชาวไทยและสังคมโลก


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar